ติดต่อ : 0-7567-0259

ข้อมูลสภาพทั่วไป

สภาพทั่วไปและข้อมูลพื้นฐาน

ประวัติตําบล
 
ตําบลท่าเรือเป็นตําบลหนึ่งใน 16 ตําบล ของอําเภอเมืองนครศรีธรรมราช ตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2444 ที่ตั้งของตําบล อยู่ทางทิศใต้ของที่ว่าการอําเภอเมือง ติดต่อกับเขตเทศบาลนครนครศรีธรรมราช ระยะทางห่างจากอําเภอประมาณ 22 กิโลเมตรถึงสุดเขตของตําบล เป็นตําบลที่มีโบราณสถานและโบราณวัตถุเก่าแก่มากมายจึงเชื่อกันว่า น่าจะเป็นที่ตั้งชุมชนโบราณที่มีความสําคัญแห่งหนึ่งของอาณาจักร “ตามพรลิงค์” ซึ่งมีการโยกย้ายหลายครั้ง ดังหลักฐานที่ขุดพบของเก่าที่เมืองโบราณบ้านท่าเรือ เมือง พระเวียง และเมืองนครศรีธรรมราชโบราณ
 
ผู้รู้หลายท่านกล่าวว่า “ชุมชนโบราณแห่งนี้ น่าจะเป็นบ้านเมืองโบราณบ้านท่าเรือ” ซึ่งในสมัยหนึ่ง คือเมืองสําคัญของอาณาจักรตามพรลิงค์ อันเป็นเมืองสําคัญของนครศรีธรรมราชในยุคแรก เพราะอยู่ในทําเลที่เหมาะสมในการติดต่อค้าขายทางทะเลมาก มีลําน้ําออกสู่ทะเลได้สะดวก เรือเดินทะเลเข้ามาถึงผู้คนที่จะเดินทางไปนมัสการพระบรมธาตุต้องเข้ามาจอดเรือ ณ ที่แห่งนี้ นอกจากนั้นยังเป็นที่น่าสังเกตว่า ยังมีสถานที่ที่อยู่ห่างจากคลองท่าเรือในปัจจุบันไปทางทิศตะวันออก ประมาณ 2 คุ้งคลอง ชาวบ้านเรียกขานกันว่า “โอเภา” หรือ “อู่เภา” ซึ่งเพี้ยนมาจากคําว่า “อู่ตะเภา” หมายถึงสถานที่สําหรับซ่อม และจอดเรือสําเภาหลังจากได้จอดส่งผู้คนข้ามฟากไปแล้ว และเคยมีซากเรือสําเภาโบราณโผล่อยู่สมัยหนึ่ง ส่วนในปัจจุบันไม่มีใครทราบและกล่าวถึงเรือโบราณนี้อีกเลย สันนิษฐานว่าคงจะจมอยู่ในดิน ประกอบกับพื้นที่บริเวณนี้เป็นป่ารกทึก ลําน้ําสายนี้อยู่ใกล้ ๆ กับหลักกิโลเมตรที่ 3 ถนนสายนคร –ชะเมา จึงได้รับคําเรียกขานว่า คลองท่าเรือ ตั้งแต่สมัยนั้นเพราะเคยเป็นท่าสําหรับจอดเรือมาก่อน
 
ชุมชนโบราณบ้านท่าเรือเป็นชุมชนขนาดเล็ก ซึ่งมีศิลปวัตถุโบราณที่เคยขุดพบในเมืองนี้ เป็นต้นว่า เครื่องมือหินขัดสมัยใหม่สมัย ก่อนประวัติศาสตร์และที่สําคัญรองลงมาคือ มีเทวสถานในศาสนาพราหมณ์ พระพุทธรูป ลูกปัด เครื่องมือเครื่องใช้ อาวุธต่างๆ ในสมัยศรีวิชัย เครื่องถ้วยชามในสมัยราชวงศ์ซ้องของจีน กลองมโหระทึก สมัยก่อนประวัติศาสตร์ อายุประมาณ 2500 –1900 ปี โดยเฉพาะพระพุทธรูปบูชาที่มีชื่อเสียงและเป็นที่รู้จักของคนทั่วไปที่เรียกกันว่า “พระท่าเรือ” สิ่งเหล่านี้เคยขุดพบเป็นจํานวนมาก และยังขุดพบกันอยู่บ้าง (ก่อนที่จะอยู่ในความดูแลของกรมศิลปากร) โดยเฉพาะในบริเวณวัดท่าเรือร้าง (บริเวณที่ตั้งวิทยาลัยนาฏศิลป์นครศรีธรรมราชในปัจจุบัน) และในคลองท่าเรือซึ่งเป็นเส้นทางออกสู่ทะเล